สหภาพไทรอัมพ์ฯ ติดตามข้อเรียกร้องที่ทำเนียบ ขอให้รัฐบาลช่วยนำงบกลางมาจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างโรงงานบริลเลียนท์ที่ถูกลอยแพมานานเกือบ 1 ปี ด้านตัวแทนรัฐรับประสานหน่วยงานต่างๆ ร่วมพูดคุยกับตัวแทนแรงงาน 3 มี.ค. 65
ภาพการตั้งขบวนชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา Chana_la)
22 ก.พ. 65 ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม หรือ Mobdata รายงานวันนี้ (22 ก.พ.) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก เมื่อเวลา 9.20 น. กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเทอร์เนชันแนล แห่งประเทศไทย ตั้งขบวนประมาณ 20 คนที่หน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าว เกิดขึ้นเวลาเดียวกับการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ
เซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์สิ่งทอจังหวัดปทุมธานี และเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เผยว่า วันนี้ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เดินทางมาเพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่เคยเรียกร้องมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า ประกอบด้วย ขอให้รัฐบาลนำเงินจากงบประมาณกลาง หรืองบประมาณอื่นๆ มาจ่ายชดเชยให้พนักงงานโรงงานบริลเลียนท์ จำนวน 1,388 คน ซึ่งถูกนายจ้างต่างชาติลอยแพเกือบ 1 ปี หรือตั้งแต่ 11 มี.ค. 64 จำนวนเงินกว่า 242 ล้านบาท
“เราคิดว่า การนำงบฯ กลางมาจ่ายให้กับเราก่อน เราคิดว่าสามารถทำได้ พวกเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโรคระบาด และนายจ้างก็ปิดกิจการ และนายจ้างตกงาน”
“คนที่เป็นลูกจ้างเดือดร้อนอยู่แล้ว เนื่องจากคนที่เคยได้รับค่าจ้างทุกเดือนๆ อยู่มาวันหนึ่ง มีการปิดกิจการกระทันหัน และไม่ได้รับค่าจ้าง จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ซื้อของ ซื้อข้าวกินในแต่ละมื้อ ๆ จำเป็น ลูกต้องเรียนหนังสือ บ้านก็ต้องผ่อน บางคนก็ต้องผ่อนบ้าน บางคนต้องผ่อนรถ บางคนไม่ได้ผ่อนบ้าน ก็ต้องจ่ายค่าเช่า เดือดร้อนกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 เรามีค่าใช้จ่ายต้องจ่ายมากขึ้น เช่น ต้องซื้อยา ต้องซื้อที่ตรวจ ต้องซื้อผ้าปิดจมูก ต้องซื้อเจลแอลกอฮอล์ มันมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ” เซีย กล่าว
บรรยากาศการชุมนุม (ที่มา Chana_La)
นอกจากนี้ ทางสหภาพฯ ต้องการทวงถามถึงความคืบหน้ากับ เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได่รับเรื่องการตามจับนายจ้างต่างชาติที่ลอยแพลูกจ้างโรงงาน เพื่อไม่ให้กรณีตัวอย่างไม่ให้นายทุนกล้าทำแบบนี้อีก
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนรัฐบาลที่มารับหนังสือวันนี้กลับไม่สามารถแจ้งความคืบหน้าว่าตอนนี้รัฐบาลทำงานไปถึงไหนอย่างไร ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้น ตัวแทนรัฐบาลจึงนัดตัวแทนสหภาพแรงงาน จำนวน 10 คน ไปประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 2 มี.ค. 65 เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กับตัวแทนภาครัฐหลายฝ่าย เช่น สำนักเลขานายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาง สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกระทรวงการต่างประเทศ
ตัวแทนภาครัฐจะมาชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เช่น กระทรวงต่างประเทศจะมาชี้แจงว่า มีการประสานงานติดตามเอาผิดกับนายจ้างต่างชาติที่ลอยแพลูกจ้างโรงงานรึยัง หรือทางสำนักงบประมาณจะมาชี้แจงว่า จะสามารถดึงเงินจากงบประมาณกลาง จำนวน 242 ล้านบาท มาจ่ายให้ลูกจ้างที่ถูกลอยแพก่อนได้หรือไม่ เพราะพวกเขาลำบากมากตอนนี้ หลังจากนั้น รัฐบาลไปตามกับนายจ้างอีกที
“เคยถามกับกระทรวงแรงงานกับประเด็นนี้แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่ายังไง และพอไปถามสำนักงบประมาณ ก็บอกว่าส่งเรื่องมาที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทราบแล้ว เหมือนกับโยนกันไปโยนกันมา” เซีย กล่าว
ประธานสหพันธ์สิ่งทอ ปทุมธานี เผยหลังจากเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐว่า พอใจผลการเจรจาในระดับหนึ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยงานต่างๆ มาร่วมพูดคุยกับพวกเราโดยตรง ซึ่งผู้ชุมนุมคาดหวังว่าจะได้เห็นความชัดเจนเรื่องการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าผลเจรจาออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จะออกมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค. 65 ครบรอบ 1 ปีลูกจ้างโรงงานบริลเลียนท์ถูกลอยแพ
ก่อนหน้านี้ แกนนำสหภาพแรงงานฯ ก็ถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การชุมนุมเมื่อช่วงปีที่แล้ว ประมาณ 6 คน ซึ่งเซีย ทิ้งท้ายว่า พวกเขาทุกคนมีความกังวลอยู่บ้าง โดยเฉพาะการออกมาชุมนุมแล้วจะทำให้มีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ แต่มันไม่มีทางเลือก เพราะที่ผ่านมา เรารอ บางคนไม่ได้งาน บางคนไปทำงานได้ไม่กี่วันก็ต้องออก เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิงที่อายุเยอะแล้ว อายุ 50 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี แม้ว่าจะมีการชุมนุมที่ถนนพิษณุโลกกันหลากหลายกลุ่ม ขณะที่การรักษาความปลอดภัยที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่มีการนำรั้วเหล็กมาปิดกั้นจราจรตั้งแต่แยกพาณิชยการไปจนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และตำรวจเครื่องแบบสีกากี ร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณแนวรั้ว
(บน-ล่าง) บรรยากาศการชุมนุมของสหภาพไทรอัมพ์ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา Chana_La)
ภาพบรรยากาศรักษาความปลอดภัยที่หน้าทำเนียบ เมื่อ 22 ก.พ. 65 (ที่มา iLaw)