เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 02 มีนาคม 2565 เวลา 18:33 น.
‘ประชาชน’ ยื่นหนังสือต่อ ‘กมธ.ป.ป.ช.’ ขอเร่งรัดคดียักยอกทรัพย์ ‘สหกรณ์ฯคลองจั่น’ หลังพบเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีส่วนทำให้สหกรณ์ฯไม่ได้เงินคืน 249 ล้าน พร้อมขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ‘บ.เอกชน’ บุกป่าสงวน
……………………………
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ได้ลงมารับหนังสือร้องเรียนจากประชาชน โดยมีเรื่องสำคัญๆ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องขอให้เร่งรัดตรวจสอบการฉ้อโกงประชาชน กรณียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเรื่องขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตช่วยเหลือบริษัทเอกชนบุกรุกพื้นที่ป่า
สำหรับเรื่องการขอให้ กมธ.ป.ป.ช. เร่งรัดตรวจสอบการฉ้อโกงประชาชน กรณียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นั้น นายจิรพัฒน์ ปิ่นแคน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน โดยระบุว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในขณะดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้นำเงินของสหกรณ์ฯ ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นจำนวนหลายหมี่นล้านบาท ส่งผลให้สหกรณ์ฯขาดสภาพคล่อง และไม่มีเงินเงินคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์
ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2556 สำนักงาน ปปง. มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดราย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ไว้ชั่วคราวนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2556 และมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้วทราบ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 ไว้จำนวน 36 แปลง เนื้อที่ 1,838 ไร่ ที่มีชื่อนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง เพื่อนำออกประมูลขายทอดตลาดตามกฎหมายและระเบียบ เพื่อนำเงินมาชำระคือแก่สหกรณ์ต่อไป ซึ่งเป็นผู้เสียหายต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 ธันวาคม 2556 หลังจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ถูกอายัดทรัพย์สินแล้ว ปรากฏว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่ บริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด ในราคาเหมารวม 447.80 ล้านบาท โดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้จะขาย และบริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด ผู้จะซื้อ ตกลงกันในสัญญาจะจัดทำแคชเชียร์เช็คชำระเงินค่าที่ดิน ดังนี้
1.กระทรวงการคลัง ผ่านสำนักงานคลังจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 19.88 ล้านบาท
2.สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จำนวน 100 ล้านบาท
3.นายธรรมนูญ โชติจุฬางกูร จำนวน 55.65 ล้านบาท
4.นางสาวพัชรา สงวนไชยกฤษณ์ จำนวน 27.34 ล้านบาท
5.นายสุรินทร์ ศีลพิพัฒน์ จำนวน 25.22 ล้านบาท
6.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 249.78 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2557 อธิบดีสำนักงานดีเอสไอ (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือถอนการอายัดที่ดินทั้งหมดทุกแปลง และในวันที่ 9 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่ที่ดิน ได้เพิกถอนการอายัดที่ดินดังกล่าวทั้งหมด ในวันเดียวกันกับวันที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเพิกถอนการอายัดที่ดิน และได้จดทะเบียนการซื้อขายที่ดินต่อสำนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 โดยบริษัทฯผู้ซื้อได้ชำระเงินคืนให้แก่สหกรณ์จำนวน 100 ล้านบาท เท่านั้น
ในขณะที่เงินอีก 249.98 ล้านบาท กลับคืนให้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ทั้งๆที่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ เอกชนผู้ทำสัญญาจะซื้อ สมควรต้องนำไปชดใช้คืนให้สหกรณ์ทั้งหมด เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ฯที่ได้รับความเสียหายต่อไป
“ข้าพเจ้า นายจิรพัฒน์ ปั่นแคน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ จึงขอกราบเรียนท่านว่า การกระทำของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร และเจ้าหน้าที่ของสองหน่วยงานดังกล่าวที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นการร่วมกันหรือสนับสนุนให้นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้รับเงินคืนจำนวน 249.98 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ทุจริตและมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สหกรณ์ฯ ไม่ได้รับเงินคืนเพื่อนำเงินมาเยียวยาให้แก่สมาชิกของสหกรณ์ ฯส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ฯซึ่งเป็นประธานรากหญ้าได้รับความเสียหาย
ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า จนถึงปัจจุบันการสอบสวนยังไม่ปรากฏความคืบหน้าและไม่ปรากฏข่าวว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ใดหรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินคดีดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานผู้หนึ่งผู้ใดหรือเอกชนผู้ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนการกระทำความผิดแต่อย่างใด
จึงขอความอนุเคราะห์ท่าน กรุณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและเรียกเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย กรรมการสหกรณ์ดังกล่าว สมาชิกสหกรณ์ฯ และกรรมการ บริษัท พิษณุโลก เอทานอล จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท สีคิ้ว พรอพเพอร์ตี้ จำกัด) มาชี้แจงเรื่องการซื้อขายที่ดินดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมต่อสมาชิกของสหกรณ์ฯ
หากพบว่าการกระทำของเจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้อง หรือ เอกชนผู้หนึ่งผู้ใดเป็นความผิดอาญา ขอท่านได้โปรดแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะกระทำความผิดในลักษณะฉ้อโกงประชาชนอีกต่อไป” หนังสือร้องเรียนของนายจิรพัฒน์ ปั่นแคน ระบุ
@ร้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพิกถอน ‘น.ส.3 ก’ รุกป่าสงวน
ส่วนเรื่องการขอให้ กมธ.ป.ป.ช. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตช่วยเหลือบริษัทเอกชนบุกรุกพื้นที่ป่า นั้น นายธนารัตน์ น้ำคำ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ว่า บริษัท อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3230 เล่ม 33 ก หน้า 30 เลขที่ดิน 55 ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จำนวน 328 ไร่ (โดยการรวม น.ส.3 ก หลายฉบับเข้าด้วยกัน)
และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1174 พ.ศ. 2529 ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชติ พ.ศ. 2507 มีข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า บริษัท อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด ดังกล่าว ได้ ประกอบกิจการอยู่ในเขดป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกปาสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่เกี่ยวข้องย่อมมีความผิด เพราะได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่บริษัท บริษัท อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่กรมป่าไม้ได้ทำหนังสือที่ กษ 0705.05/8786 ลงวันที่ 12 เมษายน 2544 แจ้งกรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่กรมที่ดินยังไม่ได้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเวันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่ยอมเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยไม่ซอบด้วยกฎหมาย
“จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงน่าเชื่อได้ว่า น่าจะมีการกระทำโดยทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน ซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศ และทำความจริงให้ปรากฏฎจึงขอให้ท่านกรุณาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงข้างต้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อไปด้วย” หนังสือร้องเรียนของ นายธนารัตน์ น้ำคำ ระบุ