ดีป้าเปิดแผนกระจายเทคโนโลยีสู่ชุมชน เปิด 7 สาขาทั่วประเทศ ปั้นเป็นศูนย์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม สร้างการเข้าถึงเทคโนโลยี
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ในปี 2566 ดีป้า จะเร่งกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านเครือข่ายการทำงานในรูปแบบสำนักงานฯ สาขาทั้ง 7 สาขาทั่วประเทศของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานฯ สาขาภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานฯ สาขาภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานฯ สาขาภาคอีสานตอนกลาง จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานฯ สาขาภาคอีสานตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานฯ สาขาภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี สำนักงานฯ สาขาภาคใต้ตอนบน จังหวัดภูเก็ต สำนักงานฯ สาขาภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา ที่ทั้งหมดจะไม่ได้เป็นเพียงสำนักงานฯ สาขา แต่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มประเทศไปสู่ดิจิทัล อีกทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึง และสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยดำเนินงานเสมือนเป็นหนึ่งในครอบครัวของ ดีป้า ผ่าน d-space พื้นที่ใช้งาน และ d-station ร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล
สำหรับ d-station ร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล แนวคิดเกิดมาจากการที่ดีป้าได้ลงพื้นที่ในต่างจังหวัด พบว่า มีผู้สูงอายุต้องการใช้งานดิจิทัลต่างๆ จำนวนมาก แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ใช้งานแบบไหน จึงเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ต้องมีคนแนะนำ ประกอบกับดิจิทัลสตาร์ทอัป ที่ดีป้าสนับสนุนให้เกิดสินค้าซอฟต์แวร์ต่างๆ ยังไม่มีจุดกระจาย หรือช่องทางการนำเสนอบริการในพื้นที่ห่างไกล
การผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อาจจะมีธุรกิจอยู่แล้ว เช่น ร้านกาแฟ หรืออาจจะเริ่มต้นทำธุรกิจอื่นที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว จะนำบริการดิจิทัลไปขายพ่วงด้วย น่าจะเป็นการง่ายที่สุดในการทำให้ทั้งคนขายและคนใช้วินวินทั้งคู่ คนขายได้ส่วนแบ่งรายได้จากการขาย และผู้ใช้งานก็ได้ประโยชน์จากการได้เรียนรู้และนำสินค้าซอฟต์แวร์ไปพัฒนาสินค้าชุมชนหรือธุรกิจชุมชนของตนเอง
d-station จึงเป็นการเปิดช่องทางในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการธุรกิจตัวกลาง (เอเยนต์) ในการให้บริการดิจิทัล โดยจะหาผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สตาร์ทอัป แต่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่มาทำหน้าที่เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัปและผู้ให้บริการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนกับทางดีป้า เช่น บริการแอปพลิเคชันคิวคิว และจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายบริการดิจิทัลเหล่านี้ เป็นการช่วยทำให้เกิดอาชีพใหม่ และเกิดการลงทุนในพื้นที่
นายณัฐพล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหน่วยงานแรก ๆ ของประเทศที่มุ่งสร้างเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อปูพื้นฐานสู่เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงในอนาคต โดยปัจจุบันมีนักเรียนสามารถเข้าถึงทักษะด้านโค้ดดิ้งมากกว่า 4.2 ล้านคน เพิ่มศักยภาพกำลังคนดิจิทัลผ่านการ Upskill, Reskill และ New Skill
ดีป้า ยังยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ โดยสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัปสัญชาติไทย 142 ราย เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 16,000 ล้านบาท ผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัปเข้าสู่ระบบและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ซึ่งดิจิทัลสตาร์ทอัปนับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (Real Sector) ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม
นอกจากนี้ยังดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถในกระบวนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมากถึง 281 ชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ผู้สูงวัย กลุ่มเปราะบางเกิดความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ตระหนักถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 9 ล้านคน
ส่งเสริมให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด ส่งคนรุ่นใหม่กลับไปทำงานเพื่อพัฒนาภูมิลำเนาของตนเอง และบูรณาการการทำงานกับท้องถิ่นผ่านโครงการนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) อีกทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านโครงการ Thailand Digital Valley ที่ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2567