อบจ.พิษณุโลก เปิดโครงการตลาดชุมชนท้องถิ่น “คนวังจันทน์” ณ พระราชวังจันทน์
วันที่ 16 มกราคม 2566 นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานต่อ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ประธานในพิธีเปิดโครงการตลาดชุมชนท้องถิ่น “คนวังจันทน์” ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2566 ณ บริเวณวัดวิหารทอง ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จัดโดยกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ภายในพิธีได้รับเกียรติจาก นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ และหัวหน้าส่วนราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ร่วมเปิดโครงการ ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับการถ่ายโอนภารกิจการดูแลบำรุงรักษาโบราณสถานพระราชวังจันทน์และการบริหารจัดการ อาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการโครงการปรับปรุงและพัฒนาในพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ จำนวน 128 ไร่เศษ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงพระสุหร่ายพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตรจำลอง ณ วัดวิหารทอง ทรงปลูกต้นจันทน์ ทรงเปิดป้ายศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ และทรงทอดพระเนตรนิทรรศการภายในศูนย์ฯ ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ได้เปิดให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ขณะนี้มีผู้เข้าชมจนถึงปัจจุบันไม่น้อยกว่า 500,000 คน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งจะส่งผลรวมในการมีรายได้ของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการตลาดชุมชนท้องถิ่น “คนวังจันทน์” เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการจัดจำลองบรรยากาศตลาดในยุคอดีต ผนวกกับการแสดงวิถีชีวิตของการจำหน่ายสินค้าของชุมชน โรงเรียนและสถานศึกษา และสร้างจิตสำนึกให้มีการเรียนรู้ ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามีวิถีการดำรงชีวิตที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น มีความเป็นอยู่ผู้คนในชุมชนที่สะท้อน ความเป็นอัตลักษณ์ที่สามารถนำมาเป็นต้นทุนสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ชุมชน โดยสามารถพัฒนาประชาสัมพันธ์วิถีการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับชุมชน โดยนำทุนทางวัฒนธรรมใช้ในกระบวนการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภายในงานมีการแสดงและศิลปะวัฒนธรรมของไทยสลับหมุนเวียนมาโชว์กันในแต่ละคืน พร้อมทั้งร่วมชมตลาดวัฒนธรรมและทานอาหารแบบขันโตก ท่ามกลางบรรยากาศ วัด วังในยามค่ำคืน โดยผู้เข้าร่วมต่างแต่งกายย้อนยุคสมัยอยุธยา (บุพเพสันนิวาส) มาร่วมงานอย่างสวยงาม ส่วนบรรยากาศภายในงานมีประชาชนชาวพิษณุโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวงานดังกล่าวจำนวนมาก ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว