เผยแพร่:
ปรับปรุง:
วันนี้ (9 มี.ค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เฝ้าระวังติดตามและเข้าปฏิบัติงานในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่, ตาก, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, เชียงราย, แพร่, น่าน, ลำพูน, พะเยา, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, อุทัยธานี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ และ พิจิตร ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนในเรื่องของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 และปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพสิ่งแวดล้อม โดย ทส. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ พร้อมทั้งวางมาตรการเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ด้าน นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ได้เร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าภาคเหนือ ซึ่งในขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนจึงทำให้สภาพพื้นที่ป่าในภาพรวมแห้งแล้งมีการสะสมและทับถมของเศษใบไม้แห้ง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ประกอบกับพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรที่อยู่อาศัยทำกินในเขตพื้นที่ป่าไม้ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเหลือเศษวัชพืชทางการเกษตร โดยมีเกษตรกรบางรายใช้วิธีการเผา เพื่อเป็นการกำจัดเศษวัชพืชดังกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้มอบนโยบายแนวทางให้หน่วยงานของ ทส. ใช้มาตรการเชิงรุก “ชิงเก็บ” โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนงานชิงเก็บเชื้อเพลิงที่อยู่ในเขตป่าไม้ เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของไฟป่าที่จะเกิดขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเก็บเชื้อเพลิงโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ร่วมกันดำเนินการ เป้าหมายให้ได้จำนวน 1,000 ตัน ในเขต 10 จังหวัดภาคเหนือในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง และจนถึงปัจจุบันสามารถดำเนินการเก็บลดเชื้อเพลิงได้เกินเป้าหมาย มากเกือบเท่าตัวและยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามแผนงานต่อไปจนกว่าจะหมดฤดูไฟป่าปี 2564 นี้
ในส่วนของกรมป่าไม้ นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมสถานการณ์ โดยกรมป่าไม้ได้วางแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยใช้มาตรการเตรียมพร้อม 1. การบริหารจัดการเชื้อเพลิง 2. ทำแนวกันไฟ 3. จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ จากหน่วยงานภายในพื้นที่ 4. จัดเจ้าหน้าที่ในการออกลาดตระเวน เพื่อเฝ้าระวัง ดับไฟป่า 5. ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า กรมป่าไม้ (War Room) 6. แจ้งจุดความร้อนพร้อมทั้งสั่งการผ่านแอปพลิเคชันพิทักษ์ไพร และการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ มาช่วย รวมถึงการใช้ เฮลิคอปเตอร์ของ ทส. มาใช้ในการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด
ในการติดตามสถานการณ์ นอกจากการวางมาตรการในการรับมือ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผาป่า ซึ่งผู้ที่กระทำผิดจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท หรือมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจากการรายงานสถานการณ์ไฟป่าของวันที่ 8 มี.ค.64 พบจุดความร้อนทั่วประเทศทั้งหมด 1,833 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภาคเหนือ 492 จุด โดยจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน 119 จุด จึงได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการป้องกันและควบคุมไฟป่าชุดเหยี่ยวไฟ จากพื้นที่อื่นสับเปลี่ยนย้ายกำลังเข้าบูรณาการควบคุมไฟป่าเป็นการเร่งด่วนแล้ว โดยให้เน้นการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่นเตรียมความพร้อมในการเข้าควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามขยายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ กรมป่าไม้ขอความร่วมมือจากประชาชนหากพบเห็นเหตุไฟป่าสามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไประงับเหตุได้ทันสถานการณ์
ในส่วนสถานการณ์จุดความร้อนสะสมในเขตป่าสงวนแห่งชาติของวันนี้ โดยเฉลี่ยยังน้อยกว่าในปี 2563 จำนวน 6,884 จุด หรือน้อยกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ ของปีที่แล้ว ซึ่งยังคงต้องให้ทุกหน่วยงานภาคสนามที่รับผิดชอบ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด