ปูพรมเคาะประตูบ้านฉีดวัคซีนทั่วประเทศ หวังล้างภัยโควิด เชียงใหม่คึกคักแห่จองแน่น พร้อม ปชส.เชิงรุกลงพื้นที่กระตุ้นชาวบ้าน ขณะที่อีสานคลุกวงในแบบเคาะประตูบ้าน อุบลฯ ยอดลงทะเบียนพุ่งแตะ 8 หมื่นราย พิษณุโลกผุดแอปช่องทางพิเศษปชช. ขณะที่บุรีรัมย์งัด กม.คุมฉีดกลุ่มเสี่ยงหวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
เมื่อวันศุกร์ ที่ จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 121 ราย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อสูงอยู่ ซึ่งขณะนี้ทางสาธารณสุขได้เร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกตามโรงงานที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้จองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามนโยบายรัฐ?ในกลุ่มสูงอายุและ? 7? กลุ่มโรค? แต่ยอดลงทะเบียนยังไม่มาก ล่าสุดจึงจัดทีมลงพื้นที่เพื่อเปิดรับลงทะเบียนจากปกติผ่านหมอพร้อม ที่มีจำนวน 47,782 ราย จองในพื้นที่โรงพยาบาล รพ.สต. และอสม. จำนวน 11,169 ราย รวม 58,951 ราย คงเหลืออีก 541,049 ราย ทำให้ต้องวางแผนในการเชิญชวนเชิงรุกให้ ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 430,356 ราย ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจำนวน 182,194 ราย มาลงทะเบียนเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19? เพิ่ม?
ด้านนางนันท์ลภัส ขันตี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าการเปิดลงทะเบียนเชิงรุกที่เริ่มในวันนี้ หลังจากทางรัฐเปิดให้กลุ่มประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าฉีดวัคซีนได้ทันทีเช่นกัน? ซึ่งเชียงใหม่?มีเป้าหมายฉีดให้ประชาชนที่มาจองคิวตั้งแต่? 3? มิ.ย.นี้เป็นต้นไป? และถ้ารวมทุกกลุ่มของเชียงใหม่?ก็มีเป้าหมายฉีดให้ได้? 1.6 ล้านคน
ที่วัดบ้านวังโป่ง ตำบลศรีสองรักษ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเลย นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและ อสม.ประจำหมู่บ้าน เดินรณรงค์ในหมู่บ้าน พร้อมกับเคาะประตูบ้านประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน ร่วมลงทะเบียน เพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยถือเป็นวันดีเดย์คิกออฟของจังหวัดเลย โดยได้แบ่งสายกันเพื่อไปรณรงค์ให้ครบทุกอำเภอ โดยจังหวัดเลยมีประชากรทั้งหมด 645,000 คน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ประชาชน เพื่อเชิญชวนฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยยี่ห้อไหนก็ดี ขณะที่ยอดร่วมลงทะเบียนที่ฉีดวัคซีน คิดแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
ที่ จ.พิษณุโลก นายรณชัย จิตวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้มอบหมายให้ทีมด่านหน้า 5 เสือ ซึ่งได้แก่ อสม.และฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอทุกอำเภอ ท้องถิ่น ลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ รวมทั้งบริการรับลงทะเบียนให้แก่ประชาชนที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทาง Application หรือ LINE หมอพร้อมได้
นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้พัฒนา Application พิดโลกพร้อม เพื่อเป็นช่องทางพิเศษในการจองวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนชาวพิษณุโลก ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR code)
ที่ จ.อุบลราชธานี นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหัวดอุบลราชธานี กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้กับชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนแวค มาจำนวน 16,460 โดส มีผู้ที่ได้รับวัคซีนในเข็มที่ 1 ไปแล้ว 14,787 โดส และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นเข็มที่ 2 แล้ว จำนวน 7,749 โดส ซึ่งทั้งหมดเป็นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 ที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า
จังหวัดอุบลราชธานีมีหน่วยฉีดวัคซีนทั้งหมด 38 หน่วย กระจายไปทั้ง 25 อำเภอ โดยตั้งเป้าหมายที่จะต้องฉีดให้กับกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรค ทั้งหมด 782,852 คน ซึ่งมีประชาชนที่แสดงความประสงค์ที่ต้องการฉีดวัคซีนข้อมูลล่าสุดวันที่ 14 พ.ค.ทั้งหมด 82,916 คน คิดเป็น 10.59% ซึ่งคาดว่าจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มแรกในวันที่ 7 มิถุนายน 2564
ที่ จ.บุรีรัมย์ นพ.พิเชษฐ พืชขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ออกคำสั่งที่ 13/2564 ลงวันที่ 13 พ.ค.2564 เรื่องการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2564 ซึ่งเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายแพร่เชื้อหรือรับเชื้อต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหากฝ่าฝืนคำสั่งต้องระวังโทษทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการโรคติดต่อ เป้าหมายหลักก็เพื่อต้องการให้คนบุรีรัมย์ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่พำนัก อาศัย หรือทำงานอยู่ในพื้นที่บุรีรัมย์ ให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงตามช่องทางที่จัดทำขึ้น ว่าต้องการจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งหากไม่ทำการฉีดวัคซีนตามจำนวนที่กำหนดไว้ในเรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะไม่เกิดขึ้น และการควบคุมการระบาดก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาการระบาดก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน ดังนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อระงับยับยั้งการระบาดให้เร็วที่สุด
ณ ห้องประชุมศรีโคตร ชั้น 2 อาคารแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายมนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงพยาบาลได้พร้อมใจกันประกอบพิธีรับมอบเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) พระราชทาน ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมได้รับพระราชทาน จำนวน 5 เครื่อง อย่างสมพระเกียรติ ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจังหวัดนครพนม
รวมทั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานเครื่อง Oxygen High Flow จำนวน 10 เครื่อง และเครื่อง Power Air Purify Respirator (PAPR) จำนวน 5 เครื่อง แก่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อนำมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะผู้บริหาร รับพระราชทาน
ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายกณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้เริ่มเปิดแคมเปญการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยใช้วิธีเดินเข้าหาประชาชนทุกครัวเรือนในเขตเทศบาลนคร (ทน.) นครศรีธรรมราช ที่มีประชากรกว่า 1 แสนคน ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดนครศรีธรรมราช วันนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคกำลังให้ความสำคัญกับคลัสเตอร์ปรากฏใหม่ หลังจากพบการติดเชื้อในแม่ค้าขายไก่สดในตลาดสดหัวอิฐ ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมืองนครศรีธรรมราช
โดยพบการแพร่ระบาดในวงของครอบครัว คนงาน จำนวนมากถึง 17 คน และเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคยังพบกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก จากการเคลื่อนที่ของผู้ติดเชื้อ ส่วนตลาดสดหัวอิฐขณะนี้ได้ปิดบริการ 2 วันคือวันที่ 13-14 พฤษภาคม เพื่อทำความสะอาดและเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนโรค ส่วนผู้ติดเชื้อในวันนี้รวม 24 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงกว่า 680 คนแล้ว รักษาหายกว่า 300 คน และเสียชีวิต 8 คน.