“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจำนวน 87,093 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนจำนวน 2 เหตุการณ์ ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ในฑัณฑสถานหญิง พบผู้ป่วยจำนวน 84 ราย อาหารสงสัยที่เป็นสาเหตุของการระบาด ได้แก่ ปลาโอ และที่จังหวัดน่าน อยู่ในโรงเรียน พบผู้ป่วยจำนวน 200 ราย อาหารที่สงสัยคืออาหารกลางวันที่โรงเรียน ได้แก่ ข้าวมันไก่ น้ำจิ้มเต้าเจี้ยว และแตงโม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมควบคุมโรค ย้ำผู้ประกอบการ ส่งเสริมการขาย แบ่งซองขายบุหรี่มีความผิดตามกฎหมาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 40,000 บาท
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ในบางพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งประชาชนอาจมีการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกก่อนรับประทาน และทิ้งไว้นอกตู้เย็นเป็นเวลานาน หรือทิ้งค้างไว้ข้ามวันโดยไม่ได้อุ่นร้อน ประกอบกับพฤติกรรมการทำอาหารและรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาด ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์หรือพืชที่มีพิษ เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดและมีคุณภาพ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว เมื่อรับประทานร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับผู้ประกอบอาหารต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก สวมหมวกคลุมผม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคไปสู่อาหาร โดยอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่ายกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
ที่มา..สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค