วันที่ 03 ก.พ. 2565 เวลา 14:34 น.
โดย…ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
************
เมื่อเปรียบเทียบสมการทางการเมืองระหว่างช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะพบว่า สมการการเมืองได้เปลี่ยนจากการที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจมาเป็นกลุ่มเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ และได้เกิดความขัดแย้งชัดเจนระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งจากเหตุผลส่วนพระองค์ภายในพระบรมวงศานุวงศ์เองและเหตุผลทางการบริหารราชการ
กรณีหนึ่งที่อาจตีความได้เห็นว่า พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์เสียทีเดียว เพราะเสนาบดีสามารถทัดทานไม่อนุมัติตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าฯกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในขณะนั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
ในปี พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงพักผ่อนและศึกษาสถานการณ์ต่างๆทางภาคตะวันออก แต่กรมพระจันทบุรีนฤนาถในฐานะเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติไม่ทรงเห็นชอบด้วย และได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลคัดค้าน โดยทรงแถลงเหตุผลว่า ปี พ.ศ. 2463 “เปนปีที่รัฐบาลต้องวิบัติเปนนานัปการ” จึงเห็นสมควรงดและเลื่อนการเสด็จประพาสไปเป็นปีอื่น
“วิบัตินานัปการ” ที่กรมพระจันทบุรีนฤนาถทรงกล่าวถึงนี้ คือ วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากปัญหาค่าเงินที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2459 เมื่อค่าของเงิน (silver) ได้เริ่มมีค่าสูงขึ้นจนอาจมีค่ามากกว่าเงินเหรียญที่ใช้อยู่ในประเทศ ที่ปรึกษาการเงินได้เตือนว่า ถ้าปล่อยไป ประชาชนอาจจะเอาเงินเหรียญมาหลอมเพื่อนำ “แร่เงิน” ไปขายส่งออก จึงแนะนำให้ลดค่าเงินบาทโดยการลดค่ามาตรฐานของตัวเงิน (silver content) ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้ในฟิลิปปินส์และอาณานิคมจัดตั้งบริเวณสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449
แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะรัฐบาลต้องการยึดตามแนวทางที่ตัดสินใจไว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือ ยังต้องการคงค่าเงินบาทไว้ แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำในการป้องกันไม่ให้ประชาชนหลอมเงินเหรียญไปขายคือ ออกมาตรการห้ามส่งออกแร่เงิน จากปัญหาค่าแร่เงินขึ้นสูงนี้ ได้นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆมากมาย ต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2460-2465 ทำให้เสนาบดี เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจำเป็นต้องออกมาตรการพยุงค่าเงินบาทโดยการกู้เงินเป็นจำนวนถึงสองล้านปอนด์สเตอริ่งด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในขณะนั้น คือ ร้อยละเจ็ด และในที่สุด รัฐบาลจำเป็นต้องลดค่าเงินบาทในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2466
ส่วนวิกฤตโรคระบาด ประเทศเกิดโรคระบาดติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน อันได้แก่ กาฬโรคที่ระบาดในปี พ.ศ. 2460 ไข้หวัดใหญ่ในปี พ.ศ. 2461 อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2462 และโรคไข้หวัดสเปนในปี พ.ศ. 2462 ทำให้ “ชาวสยามเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนถึง 80,263 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.0%”
โดยสาเหตุเกิดจากการที่ทหารอาสาของไทยเดินทางจากยุโรปและได้นำโรคระบาดใหม่กลับมาด้วย และแพร่ระบาดในประเทศอย่างหนัก ในปีพ.ศ. 2462 ประชากรของประเทศสยามอยู่ที่ 8,478,566 คน มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 2,317,633 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อถึง 36.6% และชาวสยามเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนถึง 80,263 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.0% และไข้หวัดใหญ่ยังคงแผลงฤทธิ์ต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2463
อีกทั้งในปีสุดท้ายของการระบาดนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ในฐานะรัชทายาทของประเทศสยามทรงประชวรด้วยโรคไข้หวัดใหญ่/ปวดบวม จนทิวงคตระหว่างเสด็จไปยังสิงคโปร์ แม้ว่าจะยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่นักวิชาการต่างชาติบางคนเชื่อว่าทิวงคตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปน
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
เหตุผล “วิบัตินานัปการ” ที่กรมพระจันทบุรีนฤนาถกราบบังคมทูลคัดค้านการเสด็จประพาสญี่ปุ่นนับว่ามีน้ำหนักมากอย่างยิ่ง ด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ควรจะเสด็จต่างประเทศในขณะที่ผู้คนในประเทศเพิ่งผ่านหรือกำลังประสบภัยพิบัติจากโรคระบาดติดต่อกันถึงสามปี มีผู้เสียชีวิตไปถึง 80,263 คน และรวมทั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
และเมื่อเปรียบเทียบกับโรคระบาดโควิด 19 ในปัจจุบัน จำนวนสะสมผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีเพียง 22,207 คน
อีกทั้งสถานะการเงินของประเทศก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะเดียวกัน การเสด็จประพาสญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคือเพื่อ “ทรงพักผ่อนและศึกษาสถานการณ์ต่างๆทางภาคตะวันออก” ซึ่งอาจจะถือได้ว่าไม่เป็นเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสด็จในปี พ.ศ. 2463
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2455 (สองปีหลังเสด็จขึ้นครองราชย์) จะพบว่า ในพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่ทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ”) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “สยาม ออฟเซิร์ฟเวอร์” (Siam Observer) ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2455 จะพบว่าในบทความตอนที่ 6 เรื่อง “การศึกษาและความไม่สงบในโลกตะวันออก” (Education and Unrest in the East) พระองค์ทรงวิจารณ์ให้เห็นถึงข้อเสียของการนำเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ในประเทศอย่างขาดการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขของสังคมไทย โดยพระองค์ได้ทรงยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ นั่นคือ การแต่งกายตามแบบฝรั่งและใช้ผ้าวูลของฝรั่ง ซึ่งหนาและหนัก ไม่เหมาะกับสภาพอากาศของไทย
และทรงยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นว่า เมื่อคนญี่ปุ่นไปศึกษาที่ยุโรป พวกเขาได้เก็บเอาสิ่งที่ดีที่สุดของอารยธรรมยุโรป และเมื่อกลับมาประเทศ ก็ประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาที่ยุโรปโดยพยายามปรับให้เหมาะสมกับสภาพเงื่อนไขในประเทศ และพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงคนญี่ปุ่นไว้ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่ายิ่งเรารู้ความจริงบางอย่างได้เร็วอย่างคนญี่ปุ่น เราก็จะสวมเสื้อคลุมแห่งอารยธรรมได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ความจริงประการหนึ่งก็คือ สิ่งที่เหมาะสมกับประเทศหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเหมาะกับประเทศอื่นเสมอไป” (I think the sooner we realise certain truths, as the Japanese have done, the sooner we be able to wear the cloak of civilization to the best advantage. One of the truths is that what suits one country does not necessarily suit another country equally well.)
นอกจากบทความตอนที่ 6 แล้ว พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความอีก 6 ตอนภายใต้หัวเรื่อง “Japan for Example” (ตัวอย่างญี่ปุ่น) ตั้งแต่ตอนที่ 13-19 มีความยาวถึง 33 หน้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยาวที่สุดที่พระองค์พระราชนิพนธ์ให้หนังสือพิมพ์ “สยาม ออฟเซิร์ฟเวอร์” ในช่วงเวลาดังกล่าว
และในบทความ 6 ตอนที่ว่าด้วยเรื่องญี่ปุ่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ได้ทรงศึกษาและพยายามเข้าใจประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนพัฒนาการสู่ความเป็นสมัยใหม่ของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง และพระองค์ได้เคยเสด็จประพาสญี่ปุ่นเป็นประเทศสุดท้ายหลังจากที่พระองค์เสด็จเยือนประเทศรุสเซีย ออสเตรีย อียิปต์ อิตาลี ฝรั่งเศส ฮังการี สเปน โปรตุเกส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ก่อนจะเสด็จกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2445
หลังจากที่ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พระองค์คงได้ทอดพระเนตรและทรงประทับพระทัยกับการปรับและการประยุกต์อารยธรรมตะวันตกของชาวญี่ปุ่น และในปี พ.ศ. 2463) พระองค์คงมีความสนพระทัยที่จะอยากจะกลับไปศึกษาพัฒนาการของญี่ปุ่น หลังจากที่เคยเสด็จไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว แต่คราวนี้ พระองค์ทรงเสด็จไปในฐานะพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ในปี พ.ศ. 2445 ทรงพระอิสรยศมกุฎราชกุมาร
ภาพแห่งประวัติศาสตร์ “ร.6 เสด็จเยือนญี่ปุ่น” หลังทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ
ขณะเดียวกัน สาเหตุอีกประการหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้มากที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จประพาสญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2463 คือ ในปี พ.ศ. 2463 แพทย์ได้ตรวจพบพระอันตะเลื่อน (ไส้เลื่อน) เข้าไปในถุงแผลเป็นอยู่บ่อย ๆ และได้ถวายคำแนะนำให้ทรงทำผ่าตัดใหม่ยังต่างประเทศ (แผลที่ว่านี้คือ แผลเป็นนี้เกิดจากการผ่าตัดที่อังกฤษในปี พ.ศ. 2444 ครั้งที่ทรงประชวรจากอาการพระอันตะติ่งแตก)
และอย่างที่ทราบกันว่า สาเหตุของการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2468 ก็คือ ทรงเกิดพระอันตะหรืออาจเป็นพระอันตคุณส่วนปลาย ๆ ที่อยู่ใกล้กับพระอันตะ เข้าไปในกระเปาะเหมือนดังที่เคยเป็นอยู่นานมาแล้ว สืบเนื่องมาจากอาการประชวรครั้งที่ทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษและอาการประชวรที่พบในปี พ.ศ. 2463 ที่แพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้ทรงทำผ่าตัดใหม่ยังต่างประเทศ
แต่แผนการเสด็จประพาสญี่ปุ่นของพระองค์ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะกรมพระจันทบุรีนฤนาถทรงไม่เห็นชอบด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนักยิ่งตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยกรมพระจันทบุรีนฤนาถทรงยืนยันว่า จะไม่ยอมอนุมัติงบประมาณในการเสด็จประพาสญี่ปุ่น และหากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันที่จะเสด็จประพาสญี่ปุ่น พระองค์ก็จะลาออก ซึ่งในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็มิได้เสด็จประพาสญี่ปุ่น และแม้ว่ากรมพระจันทบุรีฯจะลาออก แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
คำถามคือ หากหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่มีนักวิชาการทั้งไทยและเทศได้ศึกษาวิเคราะห์ลงความเห็นไว้ กรณีวิกฤตค่าเงินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2459 นั้น ใครในรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจออกนโยบายที่ผิดพลาด พระมหากษัตริย์ หรือ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ? และทำไมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ในการอนุมัติงบประมาณการเสด็จประพาสญี่ปุ่นตามพระราชประสงค์ ? (โปรดติดตามตอนต่อไป) (แหล่งอ้างอิง: ชาญชัย รัตนวิบูลย์, “บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า: 2548) file:///C:/Users/This%20PC/Downloads/บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภา-003.pdf; กรกิจ ดิษฐาน, “วันที่โรคระบาดบุกสยาม เกิดอะไรขึ้นเมื่อคนไทย2ล้านคนติดเชื้อ”
https://www.posttoday.com/world/618205; พระประวัติและพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย https://kingchulalongkorn.car.chula.ac.th/th/history/rama6_bio ; ภาพแห่งประวัติศาสตร์ “ร.6 เสด็จเยือนญี่ปุ่น” หลังทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ https://www.matichon.co.th/education/news_493246 ; ผศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัชประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสวรรคต ร.6 เสียโอกาสทรงหายประชวรเพราะอะไร? ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_25072 ; B.J. Terwiel, (2005) Thailand’s Political History: From the Fall of Ayutthaya to Recent Times. River Books)