เวลา 14.00 น.วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องประชุมคอนแวนชั่น โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายพิศิษฐ์ กิจบุญอนันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ดนตรีพื้นบ้านมังคละ ที่หลายหน่วยงานในจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมมือกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชน มีจิตสำนึกรักหวงแหนมรดกภูมิปัญญาอันเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน อนุรักษ์สืบสานดนตรีพื้นบ้านมังคละ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก
นางสุวิมล เกตุศรีบุรินท์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า การอบรมในครั้งนี้ มีผู้แทนจากอำเภอ 9 อำเภอๆ ละ 8 คน รวม 72 คน ซึ่งบุคคลดังกล่าว หลังจากฝึกทักษะด้านดนตรีมังคละในครั้งนี้แล้ว จะกลับไปเป็นเป็นวิทยากร (ครูแม่ไก่) ที่จะกลับไปดำเนินการ จัดอบรมให้แก่เยาวชนในอำเภอ 9 อำเภอๆ ละ 50 คน และจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรี พื้นบ้านมังคละอำเภอละ 1 แห่ง เพื่ออนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นบ้านมังคละให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการดนตรีของจังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดทำหลักสูตรและคู่มือการอบรมเชิงพื้นบ้านมังคละ ให้เป็นองค์ความรู้ ที่จะใช้เครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน และผู้สนใจดนตรีมังคละ จึงถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการดนตรีที่เด่นชัดของจังหวัด ที่สมควรอนุรักษ์ สืบสานสู่เยาวชน เพื่อให้ดนตรีมังคละอยู่คู่เมืองพิษณุโลกสืบต่อไป
โดยบรรยากาศหลังการอบรมได้มีการแสดงดนตรีมังคละ ประกอบท่ารำอย่างสวยงาม ก่อนมอบเกียรติบัตรให้ผู้สำเร็จการอบรมดังกล่าวอีกด้วย
ดนตรีมังคละ เป็นดนตรีพื้นบ้านซึ่งปรากฏหลักฐานบันทึกว่า มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี เคยมีบทบาทสำคัญในฐานะมรดกของสังคมเมืองพิษณุโลกและภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง วงดนตรีมัคละจะมีเครื่องดนตรี ได้แก่ 1. กลองสองหน้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย 1.1กลองยืน จะมีด้วยกัน 3 ลูก มีเสียงสูง ใหญ่ และขนาดต่างกัน 1.2 กลองหลอน 1 ลูก 2. กลองมังคละ เป็นกลองชิ้นเอก มีจังหวะตีถี่ยิบ มีไม้ตีสองอัน ตามแต่ผู้เล่นจะตีถี่แค่ไหน กลองมังคละจะมีหน้าที่เป็นตัวสั่งเล่น สั่งหยุด และสั่งเปลี่ยนเพลง 3. ปี่ ปี่ชนิดนี้บ้างเรียกกันว่าปี่จีนหรือปี่เจ๊ก บ้างเรียกกันว่าปี่ชวา 4. ฆ้องหรือโหม่ง ประกอบไปด้วย ฆ้องหน้าและฆ้องหลัง 5. ฉาบ ก็จะมี 2 ชิ้นคือฉาบยืนและฉาบหลอน
/////