เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากเป็นไปตามไทม์ไลน์อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ 4 ปี คือวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่การเมืองในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล
ทั้งปัจจัยและตัวแปรในทางการเมืองย่อมไม่มีอะไรแน่นอน บรรดาผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตลอดจน ส.ส.ปัจจุบัน รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ ที่คิดจะไปต่อในทางการเมือง
ผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า หากยึดกรอบรัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี ไทม์ไลน์วันเลือกตั้ทั่วไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566
นับถึงวันนี้ คือ เดือนธันวาคม หาก ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.คนใด ต้องการไปต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากไม่คิดจะไปต่อกับพรรคเดิม และคิดจะย้ายค่าย เปลี่ยนพรรคใหม่
ย่อมต้องแสดงความชัดเจนในการเข้าสังกัดพรรคที่คิดว่าจะลงรับเลือกตั้งด้วย เพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีไพ่เด็ดในมือที่กุมความได้เปรียบต่อนักเลือกตั้ง นั่นคือ “การยุบสภา” ที่สามารถทิ้งไพ่ดังกล่าวได้ทุกเมื่อ เนื่องจากมีเงื่อนระยะเวลาที่ ส.ส.จะต้องเข้าสังกัดพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ว่า หากยุบสภาต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคใหม่ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน จึงจะลงสมัคร ส.ส.ได้
ในทางตรงกันข้าม หากกระแสและความพร้อมของรัฐบาลต่อการเลือกตั้งยังไม่ดีพอ ผู้มีอำนาจอาจต้องใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อฟื้นเรตติ้งและความนิยมของรัฐบาลให้กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นให้ได้ ด้วยการอยู่บริหารงานผ่านการใช้ทั้งกลไกอำนาจรัฐ และงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดไปจนอายุของรัฐบาลครบวาระ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องระบุว่า ในกรณีรัฐบาลอยู่จนครบวาระ 4 ปี การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นภายใน 45 วัน และ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันถึงจะสามารถลงรับเลือกตั้งได้
ความได้เปรียบข้อนี้จึงอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะใช้เงื่อนไขการยุบสภา หรืออยู่จนครบเทอม กับนัก ตั้งของแต่ละพรรคอย่างไร ซึ่งความได้เปรียบย่อมหนีไม่พ้นพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ใกล้ชิดนายกฯย่อมจะได้รับรู้ถึงสัญญาณดังกล่าวได้เว้นเสียแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกเล่นเกม “ลับ ลวง พราง” กับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
ขณะที่เกือบทุกพรรคต่างต้องทำการบ้านเตรียมทั้งผู้สมัคร ส.ส. และปัจจัยที่จะใช้สู้ศึกเลือกตั้งให้มีความพร้อมมากที่สุด รองรับทุกเงื่อนไขไม่ว่า รัฐบาลจะอยู่จนครบเทอม หรือยุบสภา ก่อนครบวาระ เห็นได้ว่าจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โชว์ศักยภาพ “บิ๊กดีล” ด้วยการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 37 คน ในวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ล้วนเป็น ส.ส.ตั้งแต่เกรด เอ บี และซี จาก 9 พรรคการเมือง แบ่งเป็น พรรค พปชร. 14 คน ได้แก่ 1.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 2.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. 3.น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. 4.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 5.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 6.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 7.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 8.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 9.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 10.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 11.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี 12.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 13.นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 14.พล.อ.สมชายวิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี
พรรคเพื่อไทย 10 คน ได้แก่ 1.นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 2.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 3.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ 4.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. 5.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย 6.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 7.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 8.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 9.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา 10.นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล 5 คน ได้แก่ 1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 3.นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย 4.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน ได้แก่ 1.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี 3.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 1 คน ได้แก่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อชาติ จำนวน 1 คน ได้แก่ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ จำนวน 1 คน ได้แก่ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนากล้า จำนวน 1 คน ได้แก่ นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร และพรรครวมพลัง 1 คน ได้แก่ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนพรรคอื่นๆ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ย่อมต้องเร่งจัดทัพทั้งขุนพลและปัจจัยให้พร้อมต่อการเลือกตั้งมากที่สุด โดยเฉพาะเงื่อนไขที่จะเป็นแรงดึงดูดบรรดานักเลือกตั้งให้ตัดสินใจเลือกมาสู้ศึกเลือกตั้งกับพรรคนั้นๆ คือ 1.กระแสความนิยม 2.นโยบาย และ 3.แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะชี้ขาดผล
“แพ้-ชนะ” ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ละพรรคจึงต้องแก้จุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้ได้มากที่สุด
เพราะเป้าหมายสูงสุดของทุกพรรค นอกจากชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.แล้ว ยังต้องรวมเสียงให้มากพอจัดตั้งเป็นฝ่ายรัฐบาลให้ได้