ในช่วงฤดูแล้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ยังมีให้นักท่องเที่ยวได้ออกไปสัมผัสมากมาย โดยเฉพาะที่บริเวณแก่งฮอม ลำน้ำเข็ก พื้นที่หมู่ 12 บ้านเข็กพัฒนา อ.นครไทย จ.พิษณุโลก นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย นางวัชรินทร์ จิตรวิเศษ นายกเหล่ากาชาด จ.พิษณุโลก นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอนครไทย ได้ร่วมกับประกอบพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำการเปิดป่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแก่งฮอม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งมีลักษณะเป็นแก่งหินน้อยใหญ่ตั้งขวางแม่น้ำเข็กเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่ก็มีลักษณะยุบเป็นหลุม ที่คล้ายกับ สามพันโบก จ.อุบลราชธานี ซึ่งกลุ่มท่องเที่ยวแก่งฮอม ที่มีชาวบ้านพื้นที่ 3 หมู่บ้าน มารวมตัวกันเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยว ที่จะมาเที่ยวชม
โดยในการท่องเที่ยวแก่งฮอม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และคณะได้ร่วมกันพายเรือล่องขึ้นไปตามต้นน้ำของลำน้ำเข็ก ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ระยะทาง 7 กม.ระหว่างทางนักท่องเที่ยวก็จะได้ชมความงามของธรรมชาติและแก่งหินน้อยใหญ่ที่ถูกน้ำกัดเซาะคล้ายเป็นรูปกรงเล็บของเสือ สวยงามและมีจำนวนมากมาย โดยชาวบ้านที่ออกหาหน่อไม้ ต่างกล่าวว่าเคยพบสัตว์ป่ามากมาย เช่น ลิงลม หมูป่า หมี ออกมาหาอาหารและน้ำกิน รวมทั้ง ยังพบ ปลาเขียว ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดตระกูลปลาเนื้ออ่อน แมงกะพรุนน้ำจืด สิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ของโลก สามารถพบเจอเพียง 1-5 แห่งของโลก ประเทศไทยพบได้ในลำน้ำเข็กเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยัง มีหอยหนาม นอง และพิง สัตว์น้ำที่จะพบเจอเฉพาะในน้ำที่สะอาดและบริสุทธิ์เท่านั้น
ระหว่างทางจุดแรกที่นักท่องเที่ยวจะได้แวะชม คือ จุดโค้งประตูเมืองเก่าโบราณ ที่ชาวบ้านหลายคนชื่อว่า ในอดีต สมัยพ่อขุนบางกลางท่าว หรือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ใช้เป็นแหล่งรวบรวมไพร่พล และสอดแนมฝ่ายข้าศึกศัตรูก่อนยกไปตีกองทัพขอม เนื่องจากมีภูมิประเทศที่สูง โดยบริเวณนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมต้นตะเคียน ขนาดใหญ่กว่า 4 คนโอบ ต้นตะแบกที่กำลังผลัดใบเป็นแดง และต้นแดงกำลังพลัดใบเป็นสีเหลืองสวยงาม
จากนั้นนักท่องเที่ยวจะล่องเรืออีกประมาณ 5 กม. ก็จะถึงแก่งปากโครงช้าง ลักษณะเป็นลานหินกว้าง ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของโขลงช้างขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าปากโขลงช้าง แต่กาลเวลาผ่านไปการเรียกขานจึงเพี้ยนไปเป็นโครงช้างในปัจจุบัน แก่งโครงช้าง นี้ มีน้ำแร่ธรรมชาติ ซึ่งไหลผ่านชั้นหินดินแล้วดันออกมาเปรียบเสมือนน้ำพุออกมาเป็นสายน้ำ ไหลมาเป็นคลอง มีน้ำตลอดปีโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมนายกเหล่ากาชาด ยังได้ร่วมหาหอยหนาม เพื่อนำมาทำเมนูแกงอ่อมหอยหนาม เป็นอาหารพื้นถิ่นฯ กรรมวิธีไม่ยุ่งยาก ทำความสะอาดหอย ตัดตูดหอย เพื่อสะดวกในการรับประทานอีกด้วย
นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า แก่งฮอม นั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมานานหลายปี แต่ในปีนี้ทางชาวบ้าน หมู่ 4 หมู่ 9 และ หมู่ 12 รวมตัวกันเป็นกลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เนื่องจากวิถีชีวิตพื้นถิ่นของชาวบ้านส่วนใหญ่จะออกไปหาหนอไม้ หาของป่ามาขายและรับประทาน แต่ถ้าเปิดแหล่งท่องเที่ยวให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมก็จะเป็นการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวแก่งฮอม นี้นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวชมได้ก็ต้องเป็นช่วงฤดูแล้งเท่านั้น เนื่องจากปริมาณน้ำที่น้อย ก็จะเห็นแก่งน้อยใหญ่ ไม่ใช่แค่เพียงแก่งฮอมอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถชมได้ทั้ง แก่งยาว แก่งวังตูม แก่งจิบ แก่งวังไซร รวมแล้วถึง 12 แก่งทีเดียว
ด้านนางสาว ตะวัน สร้อยสนตน อายุ 41 ปี ชาวบ้านนำเที่ยวแก่งฮอม กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านที่นี่อพยพออกจากป่าตามนโยบายของรัฐ รัฐจัดที่ทำกิน อยู่อาศัยให้ ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผล พืชไร่ เก็บหน่อไม้ และพืชผักในป่า ทดแทนการเป็นพรานล่าสัตว์ป่า ตัดไม้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการท่องเที่ยวแก่งฮอม แห่งนี้มีธรรมชาติที่น่าศึกษา ทั้งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือ ล่องไปตามต้นน้ำของลำน้ำเข็ก ที่รับน้ำมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งบริเวณที่ล่องน้ำไปเที่ยวชมธรรมชาตินั้น น้ำจะมีตลอดทั้งปี แต่ถ้าเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมสูง แต่ถ้าฤดูน้ำแล้ง ก็จะเห็นแก่งน้อยใหญ่สวยงาม โดยหากนักท่องเที่ยวต้องการมาเที่ยวที่แก่งฮอม ก็จะคิดค่าบริการเพียง 500 บาท ต่อคน เท่านั้น ซึ่งจะมีอาหารพื้นบ้านให้ 1 มื้อ พาล่องเรือไปเที่ยวชมธรรมชาติ 7 กม. ใช้เวลา ประมาณ 2 ชม. หรือหากต้องการกางเต็นท์นอนค้างคืนก็สามารถทำได้ จะมีชาวบ้านที่เป็นไกด์นำเที่ยว จำนวนกว่า 20 คน คอยให้บริการ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-8967-7801
สำหรับแก่งฮอม ตั้งอยู่ริมถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก ประมาณ 72 กิโลเมตร จาก อ.เมืองพิษณุโลก เมื่อขับรถจาก อ.เมืองพิษณุโลก ผ่านแยกบ้านแยง และน้ำตกแก่งโสภา เล็กน้อย จะถึงบ้านเข็กพัฒนา หมู่ 12 ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จะมีป้ายบอกบริเวณหมู่บ้าน แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปผ่านกลางหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงสถานที่จอดรถ และเดินเล็กน้อยก็ถึงลำน้ำเข็ก