ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ต.นิคมพัฒนา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นตำบลที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นาข้าวและไร่ข้าวโพดเสียหายต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี ชาวนาในพื้นที่ลงทุนแต่แทบไม่เห็นกำไร บางรายก็ทิ้งนา ไปหางานทำในเมืองกันก็เยอะ เช่นเดียวกันกับ นายอนุชิต มาพระลับ เกษตรกรในตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่หันหลังให้กับอาชีพการทำเกษตรอย่างสิ้นเชิง และหันมาเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลักมาได้ 3 ปีแล้ว โดยเลี้ยงแพะพันธุ์แองโกลนูเบียน เป็นพ่อพันธุ์สำหรับขุนขาย ส่วนพันธุ์บอร์ จะเป็นแม่พันธุ์ เนื่องจากเป็นแพะพันธุ์เนื้อขนาดใหญ่ ไม่มีเขา แพะตัวเมียตั้งเป้าขยายพันธุ์ให้ได้ครบ 100 แม่ก่อน จึงค่อยเริ่มการขาย ปัจจุบันมีแพะในฟาร์มกว่า 60 ตัว การเลี้ยงแพะไม่ยาก แต่ต้องใส่ใจดูแลในเรื่องของความสะอาดและอาหารการกิน ควบคู่กับการหมั่นปรึกษาสัตว์แพทย์เพื่อให้วัคซีนปากเท้าเปื่อย และควบคุมโรคระบาดตามฤดูกาล และตรวจเลือดทุกปี
โดยแพะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย กินง่าย สามารถกินใบไม้และพืชต่างๆ ได้มากกว่า 150 ชนิด โดยเฉพาะใบกระถิน และหญ้า ซึ่งสามารถหาได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องลงทุนซื้อ เมื่อกินใบกระถินแล้วจะเหลือลำต้น สามารถนำไปเผาถ่านได้ ส่วนมูลแพะจะนำไปตากแห้งเป็นปุ๋ย จำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำได้เป็นอย่างดี
อนุชิต มาพระลับ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ อ. บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้บอกว่า ตนเองทำนาข้าวประมาณ 5 ไร่ แต่ทำข้าวโพดเยอะหลายสิบไร่ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ แทบไม่เห็นกำไรเลย ขาดทุนเรื่อยมา ผลกระทบเกิดจากภัยแล้ง โรคระบาดต่างๆ ทุนไม่ได้คืน ก็ไม่มีเงินลงทุนใหม่ จึงหันมาเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ เพราะไม่ต้องลงทุนมาก อาหารก็หาพาไปหากินจากไร่ข้าวโพดที่เขาเกี่ยวแล้ว และแพะสามารถปล่อยอิสระได้ เขาจะไปกินอาหารเฉพาะที่ๆ เขาเคยไป จะไม่เลยไปที่อื่น กินประมาณ 1 ชั่วโมง อิ่ม ก็จะกลับมาคอกเอง เราไม่ต้องดูแลมาก ลงทุนประมาณแสนกว่าบาท แต่ก็ได้ทุนคืนในระยะเวลาไม่กี่เดือน ส่วนที่เหลือก็คือกำไร รายได้ดีกว่าทำนา หรือทำไร่ข้าวโพดเยอะ
- แชร์
- ทวีต
- ส่งไลน์