ที่มา | สกู้ปข่าวหน้า1 มติชน 7 พฤศจิกายน 2565 |
---|
เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ หรือเปิดใจกว้างของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้นักเรียนที่เข้าสอบเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2566 หรือทีแคส สามารถเลือกสอบด้วยกระดาษ หรือด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ และยังไปไกลกว่านั้น อนุญาตให้ทาเล็บ ทำสีผม สวมแว่นตา ใส่คอนแท็กต์เลนส์ ชุดเข้าสอบเปิดฟรีสไตล์แต่งตัวแบบไหนก็เข้าสอบได้เพียงแต่ให้สุภาพ
กลุ่มเพศทางเลือก แต่งเนื้อแต่งตัวไม่ต้องตรงกับเพศกำเนิดก็ได้
เป็นการให้อิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง เกิดความสบายใจในการทำสอบ
สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนไปของโลกสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เจนอัลฟ่า
รุ่นที่ถูกนิยามตัวตนว่าจะฉลาดที่สุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์ ด้วยความพร้อมทางเทคโนโลยีหลากหลาย มีทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัลสูง ทำให้สามารถเรียนรู้ได้เร็ว ผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ ได้ดี และการเติบโตมากับโลกไร้พรมแดน จึงเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของคนทั่วโลกได้ง่าย รักอิสระในการใช้ชีวิต
การเปิดกว้างข้างต้นมีเสียงจากผู้กำกับระบบการศึกษาอย่างกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงบรรดาผู้ปกครอง แสดงความวิตก เสรีภาพเช่นนั้นอาจกระทบกระเทือนระเบียบวินัย ความรับผิดชอบของผู้อยู่ในวัยเรียน
มติชน ทำการสำรวจเยาวชนเจน อัลฟ่า คิดเห็นอย่างไรกับความฟรีสไตล์นี้
พรชิตา หล่อทอง หรือ น้องออม นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะเปิดกว้างให้เด็กใส่ชุดอะไรก็ได้มา สอบ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะการสอบเราเอาความรู้เข้าไปสอบ ดังนั้น ควรจะเปิดกว้างให้ใส่ชุดสุภาพมาเข้าสอบได้ ส่วนที่บางคนกังวลว่าหากเปิดกว้างอาจกระทบเรื่องระเบียบวินัย มองว่าปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ควรโฟกัสเรื่องนี้
กัญญาภัทร ศิริ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย แม้ว่าการสอบไม่ได้วัดกันที่ใครจะใส่ชุดอะไรก็จริง แต่เราควรมีระเบียบกำหนดเป็นภาพรวม หากเปิดกว้างให้ใส่ชุดอื่นเข้าสอบ เวลามองภาพรวมแล้ว อาจไม่เป็นระเบียบ แต่หากใส่ชุดนักเรียนเหมือนกันหมด ทำให้เวลามองภาพรวมแล้วรู้สึกว่ามีความเป็นระเบียบมากกว่า เพราะสถานที่ที่เราไปสอบคือโรงเรียน เป็นศูนย์ราชการ สถานที่ราชการ ควรมีกรอบให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย
น้องโจ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ลำปาง กล่าวว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการเปิดให้นักเรียนมีอิสระในการเลือก หรือตัดสินใจในร่างกายของตนเอง ทำให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจในตนเองมากขึ้น ลดความประหม่า และเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลาย สิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนการสมัครสอบปีนี้มีเป้าหมายอยากเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ และเลือกไว้แล้วว่าจะลงสมัครสอบในวิชา TPAT1 หรือวิชาความถนัดเฉพาะแพทย์
ที่ผู้ใหญ่บางคนไม่เห็นด้วยเพราะห่วงเรื่องกฎระเบียบและวินัยนั้น มองว่าอาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้ใหญ่บางคนในเรื่องการเปิดกว้าง อาจไม่ได้ปรับตัว แต่อยากให้ลองเปิดใจในสิ่งใหม่ๆ เพราะการเปิดกว้างสำหรับนักเรียน เป็นการให้เกียรตินักเรียนแต่ละคน ในเมื่อนักเรียนเขาได้รับการให้เกียรติ เขาก็จะรักษาวินัย เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปิดกว้างไม่ได้เกี่ยวข้องกับระเบียบวินัย เป็นคนละส่วนกัน มองว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน ควรจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ทุกคนไม่ควรได้รับการตัดสินใจโดยมองแค่ในด้านเดียว
ขณะที่ น้องปาล์ม นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี กล่าวว่า อยากจะเรียนคณะและสาขาที่เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ จึงสมัครทีแคสในรอบ 2 โควต้า หรือรอบ 3 แอดมิสชั่นส์ การที่ ทปอ.ออกประกาศให้ใส่ชุดนักเรียนแต่งกายสุภาพไปสอบได้ และอนุญาตให้เพศทางเลือกก็สามารถแต่งตัวสุภาพ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งตามเพศกำเนิดของตน ถือเป็นการเปิดกว้าง และเปิดใจให้เด็ก ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะเป็นการให้อิสระกับนักเรียน บางคนอาจจะสะดวกที่จะแต่งชุดไปรเวตมาสอบมากกว่าที่จะแต่งชุดนักเรียน
ส่วนที่ผู้ใหญ่บางคนมองว่าถ้าเปิดกว้างเรื่องดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัย คิดว่าผู้ใหญ่ที่บอกเช่นนี้ก็มีเหตุผลของตน ดังนั้น ทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกันด้วยเหตุผล ลองเปิดใจรับฟังความเห็นกันและกัน คือเด็กต้องรับฟังเหตุผลของผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ควรรับฟังเหตุผลของเด็กด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน แม้มีความเห็นแตกต่าง แต่สะท้อนความชัดเจนของการเป็นตัวของตัวเองของ เจนอัลฟ่า
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่